Warning: file_get_contents(http://api.facebook.com/restserver.php?method=links.getStats&urls=http://wci.co.th/print.php?blog=318+): failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 400 Bad Request in /home/wci/domains/wci.co.th/public_html/print.php on line 78 วางแผนทางการเงิน : Wealth Creation
ข่าว CPALL จะขายขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ ปลาย พ.ย.59

ผมเห็นว่าน่าสนใจ และบางคนอาจจะไม่คุ้นกับหุ้นกู้ลักษณะนี้ เลยสรุปมาให้ครับ

 

1. หุ้นกู้ก็คือตราสาร ที่ออกโดยบริษัทต่างๆ เมื่อบริษัทต้องการระดมเงิน ก็จะออกหุ้นกู้ขายให้นักลงทุน หุ้นกู้มีลักษณะคล้ายการกู้เงิน นักลงทุนมีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” บริษัทมีฐานะเป็น “ลูกหนี้” โดยผู้ซื้อหุ้นกู้ก็จะได้ดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ตามที่ลูกหนี้สัญญาไว้ และเมื่อถึงกำหนดเวลาที่กำหนด ก็จะคืนเงินต้นให้แก่ผู้ลงทุน

 

2. หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond) ก็คือ เราจะเป็นเจ้าหนี้ลำดับที่เป็นรองจากเจ้าหนี้รายอื่นๆ เช่น เจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้ไม่มีประกัน (บางทีก็เรียกเจ้าหนี้สามัญเช่น เจ้าหนี้การค้าของผู้ออกหุ้นกู้) และเจ้าหนี้บุริมสิทธิ (เช่น กรมสรรพากร) ดังนั้น ถ้าผู้ออกหุ้นกู้เกิดล้มละลายขึ้นมา เราในฐานะเจ้าหนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธินี้จะได้รับชำระเงินคืนก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ในลำดับเหนือกว่า ซึ่งก็คือพวกเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้สามัญ และเจ้าหนี้บุริมสิทธิพวกนั้นได้รับชำระหนี้ส่วนของเขาครบถ้วนแล้วเท่านั้น

 

3. หุ้นกู้ "ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน" ก็คือหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดชำระคืนเงินต้น (Perpetual Bond) เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดวันหมดอายุ คล้ายๆกับเป็นหุ้นสามัญกลายๆ จะได้เงินต้นคืนก็ต่อเมื่อบริษัทจะเลิกกิจการ หรือเมื่อบริษัทใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด แต่ในระหว่างทางก็จะมีการจ่ายดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตามที่กำหนด และถ้าบริษัทล้มละลาย เราในฐานะเจ้าหนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธินี้จะได้รับชำระเงินคืนก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ในลำดับเหนือกว่าได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว

 

4. ความเสี่ยงของหุ้นกู้ ก็คือ บริษัทที่ออกหุ้นกู้ ไม่สามารถชำระดอกเบี้ย หรือ เงินต้นให้แก่นักลงทุนได้ ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งตรงนี้ไม่น่าเป็นห่วงมาก ถ้าบริษัทไม่ใกล้เจ๊งจริงๆ หรือ เกิดวิกฤตจริงๆ คงจะไม่มีปัญหา

 

5. โดยปกติแล้วการเสนอขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุนทั่วไปจะมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ออกจากบริษัทจัดอันดับเครดิต เป็นการสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้สำหรับหุ้นกู้ตัวนั้นๆ สำหรับหุ้นกู้ 7-11 ตัวนี้ ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ลำดับ BBB ถือว่ามีความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้ในระดับปานกลาง

 

6. ผลตอบแทนของหุ้นกู้ 7-11 ในช่วง 5 ปีแรกให้ดอกเบี้ยที่ 5.0% ต่อปี ส่วนปีที่ 6-10 ให้เท่ากับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี บวกด้วย Initial Credit Spread บวกด้วย 0.50% ต่อปี และปีที่ 11-50 ให้เท่ากับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี บวกด้วย Initial Credit Spread บวกด้วย 1.00% ต่อปี

ตั้งแต่ปีที่ 51 ให้เท่ากับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี บวกด้วย Initial Credit Spread บวกด้วย 2.00% ต่อปี

ซึ่งดอกเบี้ยจะปรับทุกๆ 5 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี โดยที่ Initial Credit Spread จะคงที่เท่ากับ 3.13% ต่อปี

ตัวอย่างการคำนวณ เช่นปีที่ 6 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี เท่ากับ 2.50% ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับดอกเบี้ยในปีที่ 6-10 เท่ากับ 2.50% บวกด้วย Initial Credit Spread 3.13% บวกด้วย 0.50% ต่อปี หรือ 6.13% ต่อปี

 

7. ผลตอบแทนที่ได้รับจากหุ้นกู้ ถือเป็นเงินได้จากดอกเบี้ยที่จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ก็คือหากลูกหนี้กำหนดว่าจะจ่ายดอกเบี้ย 5% ก็จะถูกหักภาษีไว้ 15% จะได้รับผลตอบแทนสุทธิ 4.25%

 

8. หุ้นกู้นี้ทางบริษัทสามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนดหลังครบอายุ 5 ปี คือในกรณีที่บริษัทอาจจะมีเงินสดที่เพียงพอในการชำระหนี้ทั้งก้อน หรือบริษัทเห็นว่าดอกเบี้ยเริ่มสูง อาจจะออกหุ้นกู้ตัวใหม่ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่ามาคืนหุ้นกู้ตัวนี้

 

9. โดยปกตินักลงทุนทั่วไปในบ้านเราที่ซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชนมักจะถือหุ้นกู้พวกนี้เป็นการลงทุนระยะยาวไปเลยและไม่ค่อยขาย แต่ระหว่างที่ถือถ้าต้องการใช้เงินด่วนขึ้นมา เราก็สามารถนำหุ้นกู้พวกนี้มาขายเปลี่ยนมือได้ ในตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange หรือ BEX) ซึ่งเป็นตลาดรอง คล้ายตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือซื้อขายกับคนที่สนใจ หรือฝากธนาคารให้ช่วยหาคนซื้อให้ก็ได้ ถ้ามีการตกลงซื้อขายกันได้ ก็แค่เซ็นโอนกันด้านหลังของใบหุ้นกู้ เพียงแต่เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนหุ้นกู้ที่ถืออยู่เป็นเงินสดได้ในเวลาที่ต้องการ หรือในราคาที่เหมาะสม ดังนั้นเราควรมีแผนการเงินที่ชัดเจนในการลงทุน

 

10. หุ้นกู้ประเภทนี้ มุมมองผมว่าเหมาะสำหรับคนที่ต้องการได้รับดอกเบี้ยที่แน่นอนและสม่ำเสมอ เพื่อนำมาไว้ใช้จ่าย โดยไม่ต้องใช้เงินต้น เป็นอีกทางเลือกนอกจากการฝากเงินกับธนาคารหรือลงทุนในหลักทรัพย์อื่น โดยที่ลูกหลาน หรือทายาทก็ยังได้ดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ตราบใดที่บริษัทไม่เลิกกิจการ หรือไม่ไถ่ถอนหุ้นกู้คืน

 

จากข่าวว่าจะออกมาทั้งหมด 10,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้จัดจำหน่าย ผมคาดว่าไม่น่าจะเหลือมาถึงนักลงทุนรายย่อยเท่าไหร่ น่าจะโดนนักลงทุนสถาบัน พวกกองทุนรวม กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ รวมถึงบริษัทประกัน จองซื้อหมด

 

source: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/723701

by Bird Teerapat (Wealth Strategist) - WCI

---------------------------
แบ่งปันความมั่งคั่งอย่างมั่นคงโดย
Wealth Creation
www.wci.co.th/blog
www.facebook.com/wealthcreationpage

Pitiphong Roongruengvuthikul
Admin
By